เศรษฐกิจอินเดียแซงอังกฤษแล้ว

เศรษฐกิจอินเดียแซงอังกฤษแล้ว

ก่อน ค.ศ.1997 ใครเขียนงานการระหว่างประเทศก็จะต้องเขียนถึงสหรัฐฯเป็นหลัก ตามด้วยอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี ฯลฯ ที่แทบไม่เคยมีใครพูดถึงเลยก็คือจีน อินเดีย รัสเซีย แอฟริกาใต้ บราซิล อินโดนีเซีย เปิดฟ้าส่องโลกเป็นคอลัมน์แรกที่ทำนายทายว่า ต่อไปในอนาคตมหาอำนาจชาติเศรษฐกิจอันดับต้นของโลก จะเป็นสหรัฐฯ จีน และอินเดีย เขียนอย่างนี้มีคนหัวเราะจนฟันกระเด็นออกมานอกปาก สมัยนั้นยังไม่มีแววว่าประเทศที่ประชาชนคนส่วนใหญ่ยังยากจนข้นแค้นอย่างจีนและอินเดียจะขึ้นมายืนแถวหน้าของโลกได้อย่างไร
จาก ‘เปิดฟ้าส่องโลก’ เราเปิดคอลัมน์ ‘เปิดฟ้าภาษาโลก’ ทางโทรทัศน์ก็มีสารคดี ‘เปิดเลนส์ส่องโลก’ ตอนที่ทำเปิดเลนส์ส่องโลกปีแรก ทีมงานไปถ่ายทำที่อินเดียมากมายหลายครั้ง ตอนนั้น ยังมีคนก่นด่าว่าทำไมไม่ไปถ่ายทำในประเทศเศรษฐกิจดีๆ คุณไปทำไมที่อินเดีย

เศรษฐกิจอินเดียแซงอังกฤษแล้ว

ก่อนหน้านี้ GDP ของ 6 อันดับมหาอำนาจเศรษฐกิจโลก คือ สหรัฐฯ (20.49 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) จีน (13.4) ญี่ปุ่น (4.97) เยอรมนี (4.0) สหราชอาณาจักร (2.83) และฝรั่งเศส (2.78) ตั้งแต่ 4 กันยายน 2022 มีรายงานอย่างเป็นทางการของกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF ว่า ณ บัดนี้อินเดียได้กลายเป็นประเทศ เศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลกแล้ว โดยมี GDP สูงถึง 3.5 ล้านล้านดอลลาร์ ขณะที่ GDP อังกฤษมีเพียง 3.2 ล้านล้านดอลลาร์
อังกฤษเนรเทศพระเจ้าบะฮาดูร์ ชาห์ที่ 2 ของอินเดียให้ไปพำนักพักอยู่ในพม่า อินเดียจึงตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษอย่างเป็นทางการตั้งแต่ ค.ศ.1858 หรือ 164 ปีที่แล้วเป็นต้นมา อังกฤษปกครองอินเดีย 2 แบบ แบบแรก ให้ 360 รัฐยังคงมีสถานะ เป็น Native States หรือรัฐเจ้าพื้นเมือง (ถ้ารวมรัฐเล็กๆ ด้วยก็มีมากกว่า 500 รัฐ) พวกเจ้าของรัฐเหล่านี้ยังมีอำนาจปกครอง แต่อำนาจทางการทหารและต่างประเทศ อังกฤษยึดไปทำเอง

ดินแดนส่วนที่เหลือเรียกว่า British India เป็นส่วนที่อังกฤษปกครองโดยตรง โดยมี Governor-General หรือข้าหลวงใหญ่เป็นหัวหน้าบริหาร อยู่ในความดูแลของบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ ต่อมา อังกฤษปรับปรุงการบริหารใหม่ให้ข้าหลวงใหญ่เป็น Viceroy หรืออุปราชแห่งอินเดีย และตั้งกระทรวงอินเดียมาดูแลบริหารงานแทนบริษัทอินเดียตะวันออก

สมัยก่อนตอนนั้น คนอินเดียมีสถานะเสมือนเป็นคนรับใช้หรือเป็นคนงานของอังกฤษ ทำงานกันหนักตั้งแต่เช้าจดเย็น ได้ผลผลิตเท่าใดก็ต้องเอาไปประเคนให้เจ้านายชาวอังกฤษ พวกอังกฤษนำทรัพยากรจากอินเดียไปใช้อย่างสุรุ่ยสุร่ายในทวีปยุโรป จนเติบใหญ่กลายเป็นอภิพญามหาอำนาจ ผู้คนอังกฤษมีความเป็นอยู่ อย่างสุขสบายโดยใช้แรงงานของคนอินเดีย และทรัพยากรจากผืนแผ่นดินอินเดีย โดยโยนเศษความมั่งคั่งเล็กๆน้อยๆลงไปให้พวกเจ้าผู้ปกครองแว่นแคว้นต่างๆ ได้หม่ำกันบ้าง

แผ่นดินอินเดียมีประชาชนคน 2 กลุ่มใหญ่ที่ลงหลักปักฐานอยู่ คือผู้คนที่นับถือศาสนาฮินดูและอิสลาม ความแตกแยกในด้านลัทธิและความเชื่อทำให้อังกฤษบริหารงานได้สบาย ด้วยนโยบายแบ่งแยกและปกครอง ชาวอินเดียคนแล้วคนเล่าที่ลุกขึ้นมาขอความเมตตาจากอังกฤษ ‘ขอให้พวกเราชาวอินเดียได้ปกครองตนเองด้วยเถิด’ แต่ไม่เคยได้ผล จนกระทั่งอินเดียมีมหาตมะคานธี ที่ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในการต่อสู้กับอังกฤษแบบอหิงสา ไม่ใช้ความรุนแรง

ส่วนมุฮัมมัด อาลี จินนาห์ ชาวอินเดียผู้นับถือศาสนาอิสลาม เรียกร้องให้อังกฤษแบ่งอินเดียออกเป็น 2 ส่วน คือส่วนที่ผู้คนนับถือศาสนาฮินดู (อินเดียปัจจุบัน) และส่วนที่ผู้คนนับถือศาสนาอิสลาม (ปากีสถานและบังกลาเทศ)

อินเดียได้อิสรภาพเมื่อ ค.ศ.1947 อินเดียตกอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษรวม 89 ปี คนอินเดียส่วนใหญ่ในสมัยนั้นเป็นลูกน้องคนอังกฤษ มองว่าคนอังกฤษเป็นชนชาติที่ยิ่งใหญ่ในทุกด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านเศรษฐกิจ

ทว่าวันนี้กลับตาลปัตร เศรษฐกิจอินเดียแซงหน้าอังกฤษ อดีต เจ้าอาณานิคมไปเรียบร้อยแล้ว โลกนี้ไม่มีอะไรแน่นอน แม้แต่เดี๋ยวนี้ก็มีเยอะแยะที่เจ้านายเป็นคนอินเดียและมีคนทำงานเป็นคนอังกฤษ นายกลายเป็นลูกน้อง ลูกน้องกลายเป็นนาย.